ฝังเข็ม 101: การฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร

 

การฝังเข็มนั้นรักษาโรคได้ด้วยการกระตุ้นพลังงานชีวิต(ชี่)ในร่างกายของเราให้รักษาตัวเราเองโดยการปักเข็มตามจุดชีพจรต่างๆบนร่างกายเพื่อกระตุ้นและปรับพลังงานในตัวเราให้กลับสู่สมดุล และเมื่อพลังงานกลับสู่สมดุลจะช่วยให้ส่วนที่การไหลเวียนติดขัดอุดตันเปลี่ยนเป็นปลอดโปร่ง ทำให้ส่วนที่เหือดแห้งได้รับการหล่อเลี้ยง ทำให้ส่วนที่ตกค้างได้รับการเคลื่อนย้ายถ่ายเท เมื่อร่างกายและอวัยวะต่างๆกลับสู่สมดุลและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เราหายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มีสุขภาพที่ดีและมีร่างกายที่แข็งแรง

เส้นลมปราณมือซ่าวหลางซานเจียว

เส้นลมปราณมือซ่าวหลางซานเจียว

คนไข้ที่เพิ่งเคยมาฝังเข็มครั้งแรกมักจะแปลกใจมากว่า ฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้ยังไง แค่ปักเข็มตามร่างกายหรือเจาะเลือดออกนิดๆหน่อยๆตามที่ต่างๆทำไมจึงทำให้อาการเจ็บป่วยไม่สบายหายไปได้


วิทยาศาสตร์มองการฝังเข็มว่ายังไง

เป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ตะวันตกที่เข็มที่ใช้ในการฝังเข็มเป็นเพียงเข็มเปล่าๆไม่มีตัวยาอะไรเคลือบอยู่ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออื่นช่วยในการรักษาทั้งสิ้นทำไมจึงรักษาโรคได้ (ฝังเข็มแบบดั้งเดิมสมัยโบราณนั้นไม่มีการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในภายหลังเท่านั้น) เป็นเวลานับสิบปีที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ตะวันตกต่างก็พยายามอธิบายกลไกการทำงานของการฝังเข็มแต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าฝังเข็มรักษาโรคได้ยังไง เส้นลมปราณหน้าตาเป็นยังไง จะเหมือนกับเส้นเลือด เส้นประสาท ระบบน้ำเหลืองในร่างกายเราหรือไม่ สรุปคือวิทยาศาสตร์มีความรู้เกี่ยวกับการฝังเข็มน้อยมาก

ในขณะที่แพทย์จีนโบราณค้นพบ “ชี่” ซึ่งเป็นหลังงานที่คอยผลักดันให้ระบบต่างๆในร่างกายของเราทำงาน แพทย์ตะวันก็ค้นพบ “ระบบประสาท” ซึ่งเป็นเครือข่ายเชื่อมต่อและคอยสั่งงานให้ร่างกายและอวัยวะต่างๆทำงาน และก็ค้นพบว่าระบบประสาทนั้นจะสั่งการให้เซลล์และอวัยวะต่างๆทำงานโดยการส่งสัณณาญซึ่งเป็น “คลื่นไฟฟ้าอ่อนๆ” (ซึ่งก็คือกระแสไฟฟ้านั่นแหละ) ไปยังอวัยวะนั้นๆ

“ชี่” ของแพทย์จีน หรือ “คลื่นไฟฟ้า”ในระบบประสาทของแพทย์ตะวันตก แท้จริงแล้วก็คือพลังงานในร่างกายที่คอยผลักดันให้อวัยวะและเซลล์ต่างๆให้ทำงานเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะมองว่าการฝังเข็มที่เป็นการปรับสมดุลของ “ชี่” ในร่างกาย จริงแล้วๆในอีกนัยหนึ่งก็คือการปรับสมดุลของ “คลื่นไฟฟ้า” ในร่างกายก็คงจะไม่ผิด


การฝังเข็มมีต้นกำเนิดมาจากไหน และมีความเป็นมายังไง

การฝังเข็มนั้นเป็นศาสตร์ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวจีนโบราณและสืบทอดมากว่า 4000 ปี ความรู้เกี่ยวกับการฝังเข็มนั้นส่วนนึงได้รับสืบทอดต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในตระกูลของหมอฝังเข็มชาวจีน และอีกส่วนนึงถูกบันทึกอยู่ตำรับตำราที่ถูกขุดค้นพบจากสุสานโบราณตามที่ต่างๆในประเทศจีน เรื่องราวโดยย่อของการฝังเข็มเริ่มต้นจากชาวจีนโบราณได้ค้นพบ “ชี่” ซึ่งก็คือพลังงานชีวิตที่ไหลเวียนในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และ “เส้นลมปราณ” ซึ่งก็คือทางเดินของชี่ในร่างกายของเรา หลังจากการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและเก็บสะสมข้อมูลเป็นเวลายาวนานทำให้ชาวจีนโบราณค้นพบอีกว่า เส้นลมปราณนั้นเป็นเหมือนแม่น้ำคูคลองที่เชื่อมต่อร่างกายและอวัยวะต่างๆเข้าด้วยกันเหมือนเครือข่ายหรือร่างแห และชี่ซึ่งไหลเวียนในเส้นลมปราณก็เปรียบเสมือนน้ำที่ไหลในแม่น้ำคูคลองต่างๆ เพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะและส่วนต่างๆของร่างกาย

นอกจากนี้ชาวจีนโบราณยังคันพบ “จุดชีพจร” ซึ่งเปรียบเสมือนประตูน้ำที่ช่วยควบคุมปริมาณการไหลของน้ำ กระจายอยู่ตามเส้นทางเดินของแม่น้ำลำคลอง ทางเชื่อมต่อและจุดตัดของคูคลองต่างๆ ทำให้ต่อมาชาวจีนโบราณเรียนรู้ที่จะใช้เข็มปักที่ตำแหน่ง “จุดชีพจร” บนร่างกายหรือประตูน้ำเหล่านี้ในการปรับการไหลเวียนของน้ำ(ชี่)ที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายให้เกิดความสมดุล และเกิดผลในการรักษาความเจ็บป่วย จุดชีพจรจึงถูกเรียกอีกอย่างว่า “จุดฝังเข็ม” (หรือ acupoint)


ชาวจีนโบราณได้แบ่งเส้นลมปราณที่ค้นพบออกเป็นหลายชนิด แต่เส้นลมปราณหลักๆที่ในปัจจุบันมักจะใช้ในการรักษาโรคคือ เส้นลมปราณหลัก 12 เส้น ที่เชื่อมต่อกับอวัยวะสำคัญของแพทย์จีน 12 อวัยวะ คือ

  1. ธาตุไม้ คือ ตับและถุงน้ำดี

  2. ธาตุไฟ คือ หัวใจและลำไส้เล็ก เยื่อหุ้มหัวใจและซานเจียว

  3. ธาตุดิน คือ ม้ามและกระเพาะ

  4. ธาตุทอง คือ ปอดและลำไส้ใหญ่

  5. ธาตุน้ำ คือ ไตและกระเพาะปัสสวะ

รวม 12 อวัยวะเชื่อมต่อกับเส้นลมปราณ 12 เส้น

ภาพตัวอย่างเส้นลมปราณ


ฝังเข็มกับเส้นลมปราณใช้รักษาโรคได้ยังไง

โรคของฝังเข็มนั้นต่างจากโรคของแพทย์ตะวันตก ต้องมีความรู้ในการวินิจฉัยแบบจีนควบคู่ไปกับความรู้เรื่องเส้นลมปราณ จุดชีพจรและการฝังเข็ม จึงจะสามารถเลือกใช้จุดรักษาได้อย่างถูกต้อง

คุณหมอที่ทำการฝังเข็มจะเลือกใช้เส้นลมปราณเหล่านี้ในการรักษาโรค ส่วนจะเลือกใช้วิธีการรักษาอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับประวัติ ชนิด อาการ ความรุนแรงหนัก-เบาของโรค และความชำนิชำนาญของคุณหมอแต่ละท่าน ยกตัวอย่างเช่น

  • อาการนอนไม่หลับ (ในทางแพทย์จีน) เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานที่ไม่สมดุลของหัวใจ การฝังเข็มที่จุดบนเส้นลมปราณมือซ่าวยินหัวใจ (รูปซ้ายสุด) เพื่อปรับสมดุลพลังงานของหัวใจจึงสามารถรักษาอาการนอนไม่หลับได้

  • โรคกระเพาะ ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย หรือกรดไหลย้อนเป็นโรคที่เกิดจากม้ามและกระเพาะอาหาร (ระบบย่อยอาหารในทางแพทย์จีน) ไม่สมดุล การฝังเข็มที่จุดบนเส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหารเพื่อปรับสมดุลของกระเพาะอาหารและม้ามจึงสามารถช่วยรักษาอาการผิดปกติของกระเพาะได้

  • นอกจากปรับสมดุลและรักษาความผิดปกติของอวัยวะที่ต่อกับเส้นลมปราณแล้ว เรายังสามารถใช้เส้นลมปราณเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยหรือผิดปกติของอวัยวะที่เส้นลมปราณเดินทางผ่านก็ได้ เช่น เราสามารถใข้เส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร (รูปขวาสุด) ซึ่งเป็นเส้นลมปราณที่มีชี่และเลือดมาหล่อเลี้ยงมากที่สุดในบรรดาเส้นลมปราณเท้าทุกเส้น กระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือดลมที่มาหล่อเลี้ยงขาเพื่อรักษาอาการปลายเท้าชา หรือขาบวมก็ได้เช่นกัน

  • นอกจากนี้ยังมีวิธีประยุกต์ใช้เล้นลมปราณในการรักษาโรคในลักษณะอื่นๆอีกมากมายจนไม่สามารถเจียรไนให้หมดภายในระยะเวลาสั้นๆได้

สรุปหลักการรักษาโรคของฝังเข็มจริงๆแล้วก็คือ การปรับสมดุลของพลังงาน และธาตุต่างๆภายในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายกลับสู่สมดุลและสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยตัวของตัวเองนั่นเอง


RELATED
ARTICLES