Q: มีอาการไหล่ติด(Frozen Shoulder) รักษากินยา-ทำกายภาพมานานหลายเดือนแต่ยังไม่ดีขึ้น จะทำอย่างไรได้บ้าง

 

ผมได้เห็นคนไข้ไหล่ติดจำนวนมากมีปัญหาในลักษณะนี้และสุดท้ายต้องจบลงด้วยการผ่าตัดหรือส่องกล้อง มีหลายครั้งที่พบว่าปัญหาไม่ได้รุนแรงและสามารถแก้ไขได้ด้วยการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด สำหรับหมอและคนไข้ที่นิยมชมชอบการผ่าตัดอาจจะรู้สึกว่าการผ่าตัดเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็มีคนอีกกลุ่มนึงที่ขยาดกลัวการผ่าตัด ถ้าทำได้ก็อยากขอเลือกการผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ (ผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้น) ทุกครั้งที่ผมเห็นคนไข้ที่ “ไม่จำเป็น” ต้องผ่าตัดแต่ “จำใจ” ต้องผ่าตัดก็อดไม่ได้ที่จะเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจทุกที ก็เลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์การรักษาคนไข้ไหล่ติดของตัวเองเผื่อว่าจะมีประโยชน์กับคนที่กลัวการผ่าตัดเหมือนกัน

โรคไหล่ติดอาจจะไม่ใช่โรคที่มีอันตรายร้ายแรง แต่ก็สามารถทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนเป็นยากลำบากเหมือนกำลังเล่นวิ่งสามขาที่เปลี่ยนเป็นมาผูกแขนกับเพื่อนที่มองไม่เห็นแทน สำหรับในคนอายุยังไม่มากอาจจะมองว่าเป็นการผจญภัยอย่างนึงได้ รักษาข้าก็ยังไม่เป็นไร แต่ถ้ารักษาเร็วได้ก็ต้องดีกว่าแน่นอน 


เรื่องสำคัญของอาการไหล่ติด

ส่วนที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ อาการไหล่ติดในผู้สูงอายุ อันนี้เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม อาจจะมีความรุนแรงและผลกระทบกับชีวิตของผู้สูงอายุมากกว่าที่เห็น เนื่องจากว่าร่างกายส่วนต่างๆของผู้สูงอายุก็มีการเสื่อมสภาพไปตามเวลารวมถึง ข้อต่อ กระดูก เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณข้อไหล่ด้วย ผู้สูงอายุที่มีอาการนี้จึงมักจะเป็นมากกว่าและอาการติดขัดลุกลามเร็วกว่าคนอายุน้อย ซึ่งเมื่อเป็นแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อการขยับเคลื่อนไหวและการช่วยเหลือตนเองด้วย ทำให้ไม่สามารถดูแล ช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันด้วย เป็นภาระให้ลูกหลานและคนดูแล ตัวลูกหลานเองอาจจะบอกว่า ไม่เป็นภาระ ตัวเองสามารถดูแลเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอันนี้เป็นการทำร้ายญาติผู้ใหญ่ของท่านทางอ้อม เนื่องจากว่าผู้สูงอายุนั้นจะสุขภาพดีได้นั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการที่พวกเค้าได้ขยับเคลื่อนไหวใช้ร่างกายทำกิจวัตรประจำวันอย่างเพียงพอ การที่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้น้อยลงจึงส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูงอายุโดยตรง ปัญหานี้ในผู้สูงอายุจึงเป็นปัญหาที่ควรให้ความสำคัญและรีบรักษาแก้ใขให้เร็วที่สุด

ประสบการณ์ส่วนตัวในการรักษาคนไข้ไหล่ติด

ผมฝังเข็มรักษาคนไข้มานานทำให้มีโอกาสได้รักษาคนไข้โรคปวดทั้งหลายตั้งแต่ปวดหัวจดปวดเท้า เพราะคนทั่วๆไปมักจะเข้าใจว่าฝังเข็มรักษาโรคปวดได้ดี (ทั้งๆที่จริงๆแล้วก็รักษาโรคอื่นๆได้อีกตั้งเยอะแยะ) คนไข้โรคปวดก็เลยเป็นกลุ่มนึงที่มักจะเลือกลองมารักษาฝังเข็มเร็วกว่าคนไข้แบบอื่นๆเมื่อพบว่าการรักษาแบบมาตรฐานอาจจะ ไม่ใช่แล้ว รักษาไม่หาย ไม่ชอบ ไม่ใช่แนวทาง หรือดูโหดไปหน่อยยังไม่ทันไรก็จะชวนส่องกล้องหรือผ่าตัดลูกเดียว สารพัดสารพันเหตุผลต่างๆกันไป

สรุปว่าคนเป็นโรคปวดมักจะชอบมาฝังเข็ม ผมก็เลยได้เจอคนไข้ที่เป็นโรคปวดเยอะ รวมถึงปวดไหล่จากอาการไหล่ติดก็เป็นอีกอาการนึงที่คนไข้มักจะมาหา ทุกรายที่มาหาก็มักจะรักษาแบบมาตรฐานมาสักระยะนึงแล้ว พวกรู้ตัวเร็วรักษาเดือนนึงไม่ดีขึ้นก็จะมาหาแล้ว ส่วนพวกความรู้สึกช้าหน่อยก็อาจจะหลายเดือนถึงเป็นปีค่อยมาก็มี แต่อย่างนึงที่มักจะเหมือนกันคือ รักษาแบบมาตรฐานมาแล้วทั้งนั้น กินยามาแล้วนี่แน่นอน ทำกายภาพมาแล้วก็ส่วนใหญ่ บางคนรักษาอยู่นานจนหมอชวนส่องกล้องหรือผ่าตัด (หรือหลายทีไม่นานก็ชวนแล้ว) แต่กลัวไม่อยากผ่าเลยลองมาฝังเข็มดู แต่ละคนก็มาด้วยต่างเหตุต่างปัจจัยแต่ไม่เคยเจอคนไข้มาหาเป็นตัวเลือกแรกเลยแม้แต่คนเดียว (ทำงานมา 10+ ปีแล้วไม่มีแม้แต่คนเดียว แบบนี้น่าจะเลื่อนขั้นเป็นหลานหรือเหลนเมียน้อยได้แล้ว)

ก็เลยสรุปได้อีกข้อว่า เป็นการรักษาที่ถูกเมินสุดๆ เพราะไม่เคยได้รักษาคนไข้ไหล่ติดที่ยังดีๆ เพิ่งเป็นมาใหม่ๆ ยังมีอาการไม่มากเลย คนไข้ที่มาหาแต่ละคนเป็นมาหลายเดือนถึงหลายปีทั้งนั้น แต่รักษามาจนถึงตอนนี้ก็กลับไปหายทุกคน แต่อย่างเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าผมจะคุยว่าตัวเองเก่งนะครับเพราะไม่ได้เป็นแบบนั้น

ความเป็นจริงแล้วการฝังเข็มกับโรคปวดหลายอย่างรวมถึงโรคไหล่ติดนั้นต้องเรียกว่า "ถูกโรคกัน” มากกว่า หมายความว่า การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาที่พอดีไปแก้ปัญหาของโรคปวดทั้งหลายรวมถึงไหล่ติดได้ตรงจุดมากกว่านั่นเอง ในทางทฤษฏีของฝังเข็มอาการไหล่ติดนั้นเกิดจากการตีบตันของเส้นชีพจรที่มาหล่อเลี้ยงบริเวณหัวไหล่ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก การฝังเข็มเป็นการรักษาที่ไปแก้ไขปัญหาตรงนั้นได้ตรงจุด จึงเห็นผลการรักษาได้ชัดเจนและรวดเร็ว เรื่องทฤษฏีพูดยืดยาวไปก็มีแต่จะงงเปล่าๆ เรื่องสำคัญที่สุดมันอยู่ที่รักษาหายรึเปล่า แต่เรื่องแบบนี้ไม่ควรเชื่อใคร มีแต่ต้องไปลองด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจ

การรักษาอาการไหล่ติดด้วยการฝังเข็มปกติใช้เวลารักษามากน้อยแค่ไหนถึงจะเห็นผล

การรักษาทันทีหลังจากมีอาการมักจะได้ผลดีกว่าปล่อยทิ้งไว้นานแล้วค่อยมารักษา ซึ่งส่วนใหญ่กว่าที่คนไข้จะมาฝังเข็มก็มักจะเป็นมานานพอสมควรแล้ว การรักษาคนไข้แต่ละคนจึงมักจะใช้ระยะเวลาในการรักษามาก-น้อยแตกต่างกันตามความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็น โดยความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าสำหรับหมอที่ชำนาญถึงโรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ทันที แต่คนไข้น่าจะรู้สึกได้ว่าอาการมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ในการรักษา 2-3 ครั้ง

ก็หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับคนเป็นไหล่ติดที่กลัวการผ่าตัดบ้างนะครับ


*หมายเหตุ การรักษาฝังเข็มเหมือนการผ่าตัดของแพทย์ตะวันตกตรงที่เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความปราณีต ต้องใช้เวลาฝึกฝนพัฒนาและสั่งสมประสบการณ์เป็นเวลานานจนเกิดความชำนาญ หมอแต่ละคนจึงมักจะมีความชำนาญในการรักษาโรคแตกต่างกัน ไม่ได้รักษาโรคทุกโรคได้เหมือนกันทุกคน ก่อนจะเลือกไปรักษากับใครก็ขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนนะครับว่าคุณหมอที่จะไปหาชำนาญในการรักษาโรคของเรารึเปล่า


RELATED
ARTICLES