การฝังเข็มรักษาโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

 

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเป็นโรคที่รักษาได้ยาก ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาให้เลือกได้หลายวิธี แต่ก็มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น การกินยาอาจจะทำให้มีอาการง่วงซึม ไม่สดใส การฉีดยาโบทูลินั่มท็อกซินมีความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนอื่นอ่อนแรงและต้องคอยฉีดซ้ำอยู่เสมอๆเพื่อคอยรักษาอาการไม่ให้กลับมา การผ่าตัดมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทหูและมีผลกระทบต่อการได้ยิน เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกครึ่งซีกการฝังเข็มนับเป็นการรักษาทางเลือกที่น่าสนใจเพราะนอกจากจะสามารถรักษาโรคนี้ได้ผลดี ยังไม่มีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอีกด้วย เราลองมาทำความรู้จักวิธีการรักษาโรคนี้ด้วยการฝังเข็มกันดูเผื่อว่าจะเป็นตัวเลือกที่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยบางคน

 
Distort face Photo by Ioana Cristiana on Unsplash-1.jpg
 

การรักษาโรคนี้ในแบบฝังเข็มจะมีความแตกต่างกับการรักษาในแบบแพทย์ตะวันตกอยู่หลายอย่าง ทั้งมุมมองถึงสาเหตุของการเกิดโรค การวินิจฉัย การรักษา และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้นไม่ให้โรคกลับมาเป็นอีก จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับท่านที่สนใจมารับการรักษาโรคนี้ด้วยการฝังเข็มที่จะเข้าใจความแตกต่าง แนวทางการวินิจฉัย และการรักษาในแบบของฝังเข็มไว้บ้างนะครับ


โรคกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกครึ่งซึกมีอาการอย่างไร

ช่วงแรก

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาด้วยอาการหน้าข้างใดข้างหนึ่งกระตุก มักจะเริ่มจากบริเวณเล็กๆ เช่น หางตา หนังตาบน หรือหนังตาล่าง และค่อยๆลุกลามไปยังใบหน้าส่วนอื่นๆ เช่น แก้ม มุมปาก จนเป็นกับใบหน้าทั้งซีก 

  • ช่วงแรกๆอาการกระตุกมักจะไม่สม่ำเสมอ เป็นๆหายๆ ยาวบ้าง สั้นบ้าง และค่อยๆเป็นถี่ขึ้น นานขึ้นและรุนแรงขึ้นตามระยะเวลาที่เป็น

เมื่ออาการลุกลามมากขึ้น

  • ก็มักจะพบว่าผู้ป่วยบางรายจะมีอาการชาหรือกล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งค้าง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง 2 อย่างร่วมด้วยได้

  • และจะพบว่าอาการที่เคยกำเริบแบบไม่สม่ำเสมอนั้นรุนแรงขึ้น และสามารถถูกกระตุ้นให้กำเริบได้ด้วยการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น การพูด การยิ้ม เป็นต้น

พบว่าอาการที่กำเริบมักจะสัมพันธ์กับปัจจัยบางอย่าง

ในผู้ป่วยบางรายจะพบว่าอาการหน้าเกร็งกระตุกที่กำเริบมักมีความสัมพันธ์กับสาเหตุบางอย่าง เช่น ความเครียด ความรู้สึกตื่นเต้น ความเหน็ดเหนื่อย พักผ่อนน้อย นอนดึก การสัมผัสกับคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ (การคุยโทรศัพท์โดยแนบกับศีรษะใบหน้า) เป็นต้น


สาเหตุของการเกิดโรคของ แพทย์ตะวันตก vs ฝังเข็ม

ในปัจจุบันยังไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคนี้ได้ แต่แพทย์ตะวันตกเชื่อว่าน่าจะเกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณใบหน้าถูกกดทับจึงทำให้กล้ามเนื้อใบหน้ามีอาการเกร็งกระตุก


แต่ในส่วนของฝังเข็มนั้น ตามหลักการวินิจฉัยของแพทย์จีนโรคนี้เกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของ 2 ส่วน คือ

1.การตีบตันของเส้นลมปราณบริเวณใบหน้า

ทำให้เลือดลมที่ไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงใบหน้าไม่เพียงพอและก่อให้เกิดอาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้าขึ้น และ

2.ความไม่สมดุลของเส้นชีพจรและอวัยวะภายใน

สำหรับสาเหตุอีกส่วนนึงนั้นสัมพันธ์กับปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการหน้าเกร็งกระตุกกำเริบ ในทางแพทย์ตะวันตกนั้นปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบ เช่น ความเครียด ความเหน็ดเหนื่อย นอนดึก พักผ่อนน้อย เหล่านี้เป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบเท่านั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคและการรักษา

แต่ในการรักษาฝังเข็มนั้นอาการเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญเนื่องจากแพทย์จีนพบว่า พฤติกรรม ลักษณะการใช้ชีวิตและอารมณ์ที่ไม่สมดุล (มากไปหรือน้อยไป) ของเรานั้นสามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะและระบบภายในร่างกายของเราให้ทำงานผิดเพี้ยนไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การทำงานตรากตรำ หรือการพักผ่อนน้อยล้วนสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายให้เสียสมดุลและเกิดความเจ็บป่วยได้ ในทางฝังเข็มสาเหตุที่กระตุ้นให้อาการกำเริบจึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่าได้เกิดความผิดปกติขึ้นในชีพจรและอวัยวะภายในระบบไหนบ้าง เช่น ความเครียดส่งผลกระทบให้ชีพจรตับติดขัด ไหลเวียนไม่สะดวก อาการที่มักจะกำเริบเวลาเครียดหรือตื่นเต้นจึงบ่งบอกถึงความไม่สมดุลของชีพจรตับ การรักษาฝังเข็มจึงรักษาปรับสมดุลของชีพจรตับไปพร้อมกันด้วย


การรักษาด้วยฝังเข็ม

การรักษาของฝังเข็มจึงมุ่งเน้นรักษา 2 ส่วนคือ

✔︎ เส้นลมปราณที่ตีบตันให้ปลอดโปร่งเพื่อให้เลือดลมกลับมาไหลเวียนได้สะดวก และเมื่อกล้ามเนื้อใบหน้ามีเลือดลมมาหล่อเลี้ยงเพียงพอจึงทำให้ใบหน้าหายจากอาการเกร็งกระตุก

✔︎ รักษาปรับสมดุลชีพจรและอวัยวะภายในระบบต่างๆให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ

การตอบสนองต่อการรักษาฝังเข็มของโรคกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

โรคกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกตรึ่งซีกนั้นตอบสนองต่อการรักษาฝังเข็มค่อนข้างดี ในรายที่เพิ่งเริ่มเป็นและอาการยังไม่รุนแรงมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ส่วนในรายที่เป็นมานานและอาการรุนแรง อย่างน้อยมักจะสามารถช่วยลดอาการใบหน้าเกร็งกระตุกและชาให้น้อยลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างและรายละเอียดของโรคที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย

ระยะเวลาในการรักษา

ระยะเวลาในการรักษามักขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่แล้วในรายที่เพิ่งเป็นมาไม่นานยังมีอาการไม่มากจะรักษาง่ายและใช้เวลาในการรักษาไม่นาน แต่ถ้ายิ่งทิ้งไว้นาน อาการก็มักจะมีความรุนแรงมากขึ้น การรักษาก็จะยิ่งทำได้ยากและต้องใช้เวลาในการรักษายาวนานขึ้นตามลำดับ


ข้อดีของฝังเข็มในการรักษาโรคกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

✔︎ โรคตอบสนองดีต่อการรักษา

✔︎ เป็นการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่มีการใช้ตัวยาหรือสารเคมีใดๆในการรักษา

✔︎ ไม่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมเหมือนการใช้ยา ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถทำงานและขับรถได้

✔︎ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย

ไม่เสี่ยงต่อการทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าส่วนอื่นอ่อนแรง ไม่เสี่ยงต่อผลกระทบต่อเส้นประสาทหูและการได้ยิน (ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้เป็นภาวะแทรกซ้อนทั่วๆไปที่พบได้ในการฝังเข็ม เช่น เวียนหัวจากมึนเข็ม จ้ำเลือดใต้ผิวหนังจากฝังเข็ม อาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ฝังเข็ม เป็นต้น)

*ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากการฝังเข็ม อ่านต่อ

ก็หวังว่าจะเป็นความรู้ที่มีประโยชน์กับผู้ที่สนใจนะครับ

 

RELATED
ARTICLES