ฝังเข็ม 102: คำศัพท์เฉพาะของฝังเข็มและแพทย์แผนจีน

 

สำหรับผู้ป่วยที่มารักษาฝังเข็ม ผมคิดว่าการเข้าใจภาษาที่ใช้ในการรักษาฝังเข็มบ้างจะช่วยเพิ่มความเข้าใจในการรักษาระหว่างหมอกับผู้ป่วย และช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น

แต่ภาษาเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นคำศัพท์โบราณของการฝังเข็มและไม่สามารถใช้ภาษาปัจจุบันเหมือนแพทย์ตะวันตกมาอธิบายหรือใช้แทนได้ อาจจะยากสำหรับคนที่ไม่เคยศึกษามาก่อน แต่การได้อ่านผ่านตาหรือฟังติดหูไว้บ้างนิดๆหน่อยๆค่อยๆสะสมไปทีละน้อยก็น่าจะมีประโยชน์กับการรักษาในอนาคตแน่นอนครับ

 
Bookshelf 1.jpg

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยรักษาฝังเข็มและไม่มีความรู้เกี่ยวกับฝังเข็มมาก่อน เพียงวิธีการรักษาฝังเข็มก็พอที่จะสร้างความสับสนและคำถามมากพออยู่แล้วว่า ทำไมฝังเข็มถึงรักษาโรคนั้นโรคนี้ได้ ในใจอาจจะหวังว่าถ้าได้คุยกับหมอ ให้อธิบายให้ฟังจะเข้าใจมากขึ้น แต่กลับยิ่งฟังยิ่งงง หมอยิ่งอธิบายผู้ป่วยยิ่งสับสน ส่วนนึงที่สำคัญเพราะการฝังเข็มมีหลักการ วิธีคิด และทฤษฏีแตกต่างจากแพทย์ตะวันตกโดยสิ้นเชิง การเอาความรู้ความเข้าใจแบบแพทย์ตะวันตกที่เราๆเคยชินมาทำความเข้าใจการฝังเข็มจึงยิ่งจะทำให้สับสน

ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้และทำความเข้าใจการฝังเข็มและแพทย์จีนคือ เปิดใจให้กว้าง

และยอมรับความจริงที่ว่ามนุษย์เราไม่ได้รู้และเข้าใจสิ่งรอบตัวเราและธรรมชาติไปซะทั้งหมด ยังมีสิ่งทีมนุษย์เราและวิทยาศาสตร์(ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เราค้นพบแขนงหนึ่ง)ยังไม่เข้าใจและอธิบายไม่ได้อยู่อีกมากมาย เช่น โรคที่ยังรักษาไม่หาย ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อธิบายไม่ได้ สิ่งมีชีวิตที่เราไม่รู้จัก ความรู้เกี่ยวกับจักรวาล วิญญาณ ชีวิตหลังความตาย ไสยศาสตร์ ฯลฯ อีกมากมาย ฝังเข็มกับแพทย์จีนก็เป็นหนึ่งในสิ่งเหล่านั้น

เราลองมาดูว่าคำศัพท์ที่เราพบกันบ่อยๆในการรักษาของแพทย์จีน และฝังเข็มนั้นมีอะไรบ้าง

ชี่(氣)

หมายถึง พลังงานชีวิต ประกอบด้วยตัว 米(หมี่) ซึ่งแปลว่า ข้าว กับ 气(ชี่) ซึ่งแปลว่า อากาศ เหตุผลที่ชาวจีนโบราณเรียกพลังงานชีวิตว่า ชี่(氣)เพราะเค้าค้นพบว่าพลังงานชีวิตของคนเราได้มาจากของ 2 สิ่งที่เราได้รับมาจากธรรมชาติ(ฟ้า-ดิน) คือ 米(หมี่) หรืออาหารที่เรากินเข้าไป กับ 气(ชี่) หรืออากาศที่เราหายใจเข้าไป เรารับ2สิ่งนี้เข้าไปผสมรวมกันผ่านการทำงานของอวัยวะภายในก่อกำเนิดเป็น ชี่(气)หรือพลังงานชีวิต เป็นพลังงานพื้นฐานที่ผลักดันให้ร่างกายและอวัยวะภายในทำงานทำให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้


เลือด(血)

หมายถึง ของเหลวสีแดงที่ไหลเวียนในเส้นเลือด คือสารจำเป็นที่คอยหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกายและอวัยวะต่างๆ เมื่อร่างกายและอวัยวะต่างๆได้รับการหล่อเลี้ยงอย่างพอเพียงจึงจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามถ้าเกิดภาวะที่ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ เช่น เลือดคั่ง เลือดพร่อง เป็นต้น ก็สามารถเป็นสาเหตุให้อวัยวะภายในขาดการหล่อเลี้ยงและทำงานผิดปกติได้


หยิน-หยาง(阴阳)

เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายกว้างมาก บ่อยครั้งจะหมายถึงธาตุหยิน-หยาง หรือธาตุร้อน-เย็นที่อยู่ในธรรมชาติและร่างกายเรา แต่บางครั้งเป็นคำเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย (Metaphor) ที่หมายถึง สิ่งที่มีธาตุตรงกันข้ามกัน เช่น สว่าง-มืด กลางวัน-กลางคืน ร้อน-เย็น มีรูป-ไม่มีรูป เป็นต้น หรือบางครั้งอาจจะมีความหมายถึงอย่างอื่นๆก็ได้ ซึ่งจะหมายความว่าอะไรมักจะต้องดูบริบทของเนื้อหาประกอบด้วย

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าพูดถึงสสารต่างๆในร่างกายว่าอะไรเป็นหยิน-หยาง ชี่ เลือด และจินเย่(น้ำในร่างกาย) เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไหลเวียนในร่างกายตามหลักของแพทย์จีน แต่มีความแตกต่างกันคือ ชี่เป็นพลังงาน ไม่มีรูป ให้ความอุบอุ่น เป็นแรงขับเคลื่อน ผลักดันให้อวัยวะในร่างกายทำงาน จัดเป็นธาตุหยางหรือธาตุร้อนในร่างกาย เลือดและน้ำ(จินเย่)ในร่างกาย มีรูป จับต้องได้ ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นกับร่างกาย จัดเป็นธาตุหยินหรือธาตุเย็นในร่างกาย เป็นต้น ตัวอย่างนี้อาจจะเข้าใจได้ไม่ยากเท่าไหร่

แต่บางกรณีก็อาจจะยากสักหน่อย เพราะเป็นความรู้ที่ลึกมากขึ้นอีก เช่น การแบ่งแยกเส้นลมปราณหลัก 12 เส้นเป็นเส้นลมปราณหยินและหยาง จากคุณสมบัติ ตำแหน่งและลักษณะเฉพาะของเส้นลมปราณแต่ละกลุ่ม เป็นต้น


หลักการของสมดุลธาตุหยิน-หยาง(ธาตุร้อน-เย็น)กับร่างกายของเรา

ชาวจีนโบราณพบว่า สุขภาพของเราจะดีได้ ธาตุหยิน-หยาง(หรือธาตุร้อนและเย็น)ในร่างกายจะต้องอยู่ในภาวะสมดุล เมื่อธาตุต่างๆในร่างกายสมดุล อวัยวะและระบบต่างๆจึงจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ สุขภาพจึงแข็งแรง แต่เมื่อใดที่ธาตุร้อนและเย็นในร่างกายเสียสมดุลจะทำให้อวัยวะต่างๆทำงานบกพร่องติดขัด จึงเกิดการเจ็บป่วยไม่สบายขึ้น

จะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อพูดถึงสิ่งต่างๆในธรรมชาติ เข่น แสงแดด ความชื้น ลม ความเย็น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีคุณสมบัติร้อนเย็นตามธรรมชาติแตกต่างกัน เมื่อมากระทบกับร่างกายจึงส่งผลกระทบต่อสมดุลธาตุหยิน-หยางในร่างกายของเราให้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น แสงแดดเป็นหยาง(ความร้อน) ถ้าเราตากแดดแรงๆมากเกินไปสามารถทำให้เป็นไข้แดด ตัวร้อนได้ ในขณะเดียวกัน ลมเย็นเป็นธาตุหยิน(ความเย็น) เมื่อโดนลมเย็นเยอะก็ทำให้เป็นหวัด น้ำมูกใส ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำได้ เป็นต้น ถ้าร่างกายเราปรับตัวทันท่วงทีและสามารถรักษาสมดุลไว้ได้ก็จะไม่เจ็บป่วย แต่ในบางสภาวะ เช่น ร่างกายอ่อนแอ หรือสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงเกินไป จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวตามได้ทันและสูญเสียสมดุลไป ก็จะทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย การเจ็บป่วยจึงเป็นผลจากการที่ร่างกายสูญเสียสมดุลของธาตุหยิน-หยางซึ่งในทางแพทย์จีนหรือฝังเข็มนั้นมักจะแบ่งลักษณะของการเสียสมดุลของธาตุร้อน-เย็นได้ง่ายๆเป็น 2 แบบ คือ

  • ภาวะที่ธาตุหยางมากกว่าธาตุหยิน(ธาตุร้อนมากกว่าธาตุเย็น) และ

  • ภาวะที่ธาตุหยินมากกว่าธาตุหยาง(ธาตุเย็นมากกว่าธาตุร้อน)

(จะคิดเปรียบเทียบง่ายๆว่า ธาตุหยาง คือ ความร้อนในตัวเรา และธาตุหยิน คือ ความเย็นในตัวเราก็ได้)


โรคร้อน-เย็น

โรคร้อน(热证)เป็นชื่อเรียกสั้นๆของ ภาวะที่มีธาตุหยางมากกว่าธาตุหยิน(ธาตุร้อนมากกว่าธาตุเย็น) ซึ่งเกิดได้ 2 ลักษณะคือ

  1. ร้อนเยอะกว่าปกติ มักเกิดจากความร้อนในตัวมากกว่าปกติ ร้อนจึงมากกว่าเย็น = ส่งผลให้ร่างกายร้อนกว่าปกติ

  2. เย็นน้อยกว่าปกติ มักจะเกิดจากความเย็นในตัวน้อยกว่าปกติ เย็นจึงน้อยกว่าร้อน = ส่งผลให้ร่างกายร้อนกว่าปกติเช่นกัน

โรคเย็น(寒证)เป็นชื่อเรียกสั้นๆของ ภาวะที่มีธาตุหยินมากกว่าธาตุหยาง(ธาตุเย็นมากกว่าธาตุร้อน) ซึ่งก็ได้ 2 ลักษณะเช่นกัน คือ

  1. เย็นเยอะกว่าปกติ มักเกิดจากความเย็นในตัวมากกว่าปกติ เย็นจึงมากกว่าร้อน = ส่งผลให้ร่างกายเย็นกว่าปกติ

  2. ร้อนน้อยกว่าปกติ มักจะเกิดจากความร้อนในตัวน้อยกว่าปกติ ร้อนจึงน้อยกว่าเย็น = ส่งผลให้ร่างกายเย็นกว่าปกติเช่นกัน

ในทางแพทย์จีน ถึง 2 ลักษณะนี้จะทำให้ร่างกายร้อนหรือเย็นมากกว่าปกติได้เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันมากทั้งสาเหตุการเกิด อาการ อาการแสดง และผลที่เกิดตามมา ลองมาดูตัวอย่างโรคเดียวกันที่เกิดจากลักษณะการเสียสมดุลที่แตกต่างกัน แบบนึงเป็นโรคร้อน อีกแบบเป็นโรคเย็น ยกตัวอย่างโรคไข้หวัด ในทางแพทย์ตะวันตกจะรักษาเหมือนกันไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรเพราะแพทย์ตะวันตกมองว่าไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่ในทางแพทย์จีนนั้นมองว่าไข้หวัดเกิดจากการเสียสมดุลของธาตุร้อนเย็นในปอด อาจเกิดจากร้อนเกินหรือเย็นเกิน (หรือจากสาเหตุอื่นที่ไม่ได้ยกตัวอย่างในนี้ก็ได้ เช่น ความชื้น ความแห้ง) เพราะฉะนั้นถึงจะเป็นไข้หวัดเหมือนกันแต่สาเหตุต่างกัน จึงทำให้วิธีการรักษาต่างกันอย่างสิ้นเชิง

  • ตัวอย่างที่ 1 ไปเดินตลาดนัดตากแดดร้อนนานจนมีอาการ ไข้ ตัวร้อนรุมๆ เจ็บแสบคอ น้ำมูกเสมหะเขียวเข้ม ลักษณะนี้เป็น ไข้หวัด(ไข้แดด-อากาศร้อน)ที่เกิดจากความร้อนในตัวมากเกิน เราจะรักษาโดยการระบายความร้อน ทำให้ร่างกายเย็นลง

  • ตัวอย่างที่ 2 ไปเดินตลาดนัดช่วงเดือนธันวา อากาศค่อนข้างเย็น โดนลมเย็นๆโชยใส่เป็นเวลานาน เริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ชอบลม ไข้รุมๆ น้ำมูกเสมหะขาว เจ็บแสบคอ ลักษณะนี้จัดเป็น ไข้หวัด(จากลมเย็น-อากาศเย็น)ที่เกิดจากความเย็นในตัวมากเกิน เราจะรักษาโดยการทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นเพื่อสลายความเย็น และการอุดตัน


เส้นลมปราณ(经络 อ่านว่า จิงลั่ว)

คือ เส้นทางเดินของพลังงานชีวิตในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่ชาวจีนโบราณเรียกว่า ชี่หรือลมปราณ(气)อาจจะจินตนาการเปรียบเทียบได้กับเส้นทางการไหลของแม่น้ำลำคลองทั้งเล็กใหญ่ที่เชื่อมต่อถึงกันเป็นเหมือนเครือข่ายหรือร่างแหซึ่งอยู่ภายในร่างกายเรา

ชาวจีนโบราณค้นพบว่าร่างกายของเรามีเส้นลมปราณหลัก 12 เส้นเชื่อมต่อกับอวัยวะหลัก 12 ชิ้น(ตามทฤษฏีของแพทย์จีน) ซึ่งประกอบด้วย

  1. เส้นลมปราณมือไท่ยินปอด

  2. เส้นลมปราณมือหยางหมิงลำไส้ใหญ่

  3. เส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะ

  4. เส้นลมปราณเท้าไท่ยินม้าม

  5. เส้นลมปราณมือซ่าวยินหัวใจ

  6. เส้นลมปราณมือไท่หยางลำไส้เล็ก

  7. เส้นลมปราณเท้าไท่หยางกระเพาะปัสสวะ

  8. เส้นลมปราณเท้าซ่าวยินไต

  9. เส้นลมปราณมือเจว๋ยินเยื่อหุ้มหัวใจ

  10. เส้นลมปราณมือซ่าวหยางซานเจียว(ซานเจียวเป็นอวัยวะพิเศษของจีน ไม่มีในการแพทย์แผนตะวันตก)

  11. เส้นลมปราณเท้าซ่าวหยางถุงน้ำดี

  12. เส้นลมปราณเท้าเจว๋ยินตับ

นอกจากนี้ยังมีเส้นลมปราณอื่นๆอีก แต่เส้นที่ทุกคนน่าจะเคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆอีก 2 เส้น คือ

  • เส้นลมปราณตู(督脉 อ่านว่า หยิม ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) และ

  • เส้นลมปราณเริ่น(任脉 อ่านว่า ต๊ก ในภาษาจีนแต้จิ๋ว)


เส้นลมปราณเหล่านี้จะเชื่อมต่อร่างกายทั้งภายใน ภายนอก และอวัยวะทั้งหมดเข้าด้วยกัน ชาวจีนโบราณจึงใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ในการปรับสมดุลของอวัยวะภายในต่างๆผ่านทางเส้นลมปราณเพื่อผลในการรักษาโรค


RELATED
ARTICLES