FAQ
คำถามที่ผู้ป่วยมักถามบ่อยๆก่อนมาฝังเข็ม
Q: การฝังเข็มคืออะไร ฝังเข็มมีการรักษาแบบไหนบ้าง
ฝังเข็มเป็นศาสตร์การแพทย์แขนงหนึ่งของแพทย์จีน ถึงแม้คนไทยมักจะเรียกกันจนติดปากว่า “ฝังเข็ม” แต่จริงๆแล้วชาวจีนเรียกการฝังเข็มว่า 针灸 (อ่านว่า เจินจิว) 针 เจิน แปลว่า เข็ม และ 灸 จิว แปลว่า รมยา “เจินจิว” จึงเป็นชื่อเรียกรวมของการรักษาหลายอย่างโดยหลักๆแล้วก็คือ การฝังเข็มและการจุดรมยาสมุนไพรตามจุดสำคัญต่างๆบนร่างกาย ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการใช้เข็มปักตามร่างกายเพียงอย่างเดียวอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่นอกเหนือจากการฝังเข็มและรมยาแล้วยังมีการรักษาแบบอื่นๆรวมอยู่ด้วย เช่น การปล่อยเลือด และการครอบแก้วก็จัดอยู่ในการรักษาฝังเข็มด้วยเช่นกัน
Q: การรักษาด้วยการฝังเข็ม(ปักเข็ม)มีขั้นตอนอะไรบ้าง
วิธีรักษาด้วยการฝังเข็มโดยทั่วไปก็จะเริ่มจาก
การซักประวัติและตรวจวินิจฉัยปัญหาของผู้ป่วยว่าเกิดจากอะไร อยู่ที่ระบบอวัยวะอะไร เส้นลมปราณไหน
เมื่อสามารถระบุปัญหาได้แล้วก็จะเริ่มต้นการรักษาโดยการให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงในท่าที่สบาย คุณหมอจะรักษาโดยการปักเข็มตามจุดชีพจรต่างๆเพื่อปรับสมดุลและรักษาระบบต่างๆตามที่ได้วินิจฉัยไว้
หลังจากปักเข็มเสร็จแล้วผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆประมาณ 15-30 นาทีเพื่อรอให้การรักษาช่วยปรับสมดุลร่างกายอย่างช้าๆทีละน้อย
เมื่อครบเวลาคุณหมอจะเอาเข็มที่ปักไว้ออกให้ หลังจากเอาเข็มออกผู้ป่วยก็ควรจะนอนนิ่งๆต่อประมาณ 10 นาทีเพื่อผ่อนคลายและให้ร่างกายปรับตัว ก็ถือว่าเสร็จสิ้นการรักษา
Q: ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ใช่เพราะว่ามีตัวยาอยู่ที่เข็มหรือไม่
เข็มที่ใช้ในการฝังเข็มนั้นเป็นเข็มธรรมดา ไม่ได้มีการเคลือบตัวยาใดๆเอาไว้
ที่การฝังเข็มรักษาโรคได้นั้นเนื่องจากการฝังเข็มจะไปกระตุ้นและปรับให้ร่างกายกลับสู่สมดุลที่ควรจะเป็น ร่างกายจึงสามารถฟื้นฟูและรักษาความเจ็บป่วยได้ด้วยตัวเองจากภายใน
สนใจอ่านเรื่องการฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร อ่านต่อ
Q: เข็มที่ใช้ในการฝังเข็มเป็นเข็มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable) หรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse)
ในปัจจุบันเข็มที่ใช้ในการรักษาฝังเข็มทั้งหมดเป็นเข็มที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทั้งหมด โดยหลังจากใช้แล้วจะถูกรวบรวมไปทำลายพร้อมกับขยะติดเชื้ออื่นๆ
Q: ทำไมบางครั้งทำไมหมอรักษา(ฝังเข็ม)คนละที่กับที่ๆมีอาการปวดหรือไม่สบาย
การฝังเข็มแบบดั้งเดิม(Traditional Chinese Acupuncture)นั้นจะรักษาโรคตามทฤษฏีเส้นลมปราณของแพทย์จีน ในทางแพทย์จีนเส้นลมปราณคือเส้นทางเชื่อมต่อร่างกายส่วนต่างๆให้ติดต่อถึงกัน หมอฝังเข็มจะอาศัยคุณสมบัตินี้ของเส้นลมปราณในการรักษาโรค เช่น อาการปวดหัวเราสามารถที่จะเลือกใช้จุดที่แขนซึ่งเชื่อมต่อกับหัว หรือเลือกใช้จุดที่ขาซึ่งเชื่อมต่อกับหัวในการรักษาก็ได้ การรักษาฝังเข็มจึงไม่จำเป็นที่จะต้องรักษาบริเวณที่มีอาการปวดหรือไม่สบายเสมอไป
Q: การฝังเข็มใช้เวลารักษาในแต่ละครั้งนานเท่าไหร่
การรักษาของฝังเข็มส่วนใหญ่มักใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที อาจจะมีสั้นหรือนานกว่านี้ได้แล้วแต่กรณี ซึ่งก็มักจะขึ้นอยู่กับชนิด อาการและความรุนแรงของโรคในคนแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน
Q: ระยะห่างในการรักษาของการฝังเข็มแต่ละครั้งควรจะห่างกันนานเท่าไหร่
ระยะห่างในการรักษาของหมอแต่ละคนมักจะไม่เท่ากัน โดยส่วนตัวผมมักจะเว้นระยะห่างระหว่างการรักษาแต่ละครั้ง 3-7 วัน เนื่องจากการฝังเข็มต้องรอให้ร่างกายปรับสมดุลให้เข้าที่ก่อนจึงสามารถปรับการรักษาในครั้งต่อไปได้เหมาะสมได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจจะมีข้อยกเว้นให้เร็วหรือช้ากว่านี้ได้ในบางกรณีซึ่งก็คงต้องดูกันเป็นกรณีๆไป
Q: ต้องรักษากี่ครั้ง และใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะหาย
เวลาที่ใช้ในการรักษามักจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ความหนักเบาของอาการ ถ้าถามรวมๆไม่เฉพาะเจาะจงโรคและความรุนแรงคงจะให้คำตอบได้ยาก ถ้าได้ตรวจร่างกายและซักประวัติอย่างละเอียดมักจะให้คำตอบได้ดีกว่า แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรคที่เพิ่งเป็นมาไม่นานมักจะใช้เวลารักษาสั้นกว่าโรคเรื้อรังที่เป็นมานานแล้ว
Q: การฝังเข็มมีภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของการฝังเข็ม คือ ภาวะปอดรั่ว ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก พบว่ามักเกิดจากการฝังเข็มบริเวณทรวงอกหรือแผ่นหลังช่วงบนลึกเกินไป จนเข็มไปโดนเนื้อเยื่อปอดทำให้ปอดฉีกขาดและมีลมรั่วออกมาในช่องเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยที่มีอาการนี้จะมาด้วยอาการหายใจไม่สะดวก อึดอัด แน่นหน้าอก บางครั้งอาจจะมีอาการไอร่วมด้วย
*การเลือกไปรับการรักษากับคุณหมอที่ชำนาญและมีประสบการณ์ก็จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ได้
ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่พบได้บ่อยมักจะเป็นภาวะแทรกซ้อนเล็กๆน้อยๆ ไม่มีอันตราย เช่น
มีเลือดออกหรือผิวหนังบวมนูนและปวดหลังจากดึงเข็มที่ปักไว้ออก อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังฉีกขาดจากการฝังเข็ม สามารถแก้ไขได้ง่ายๆด้วยการกดจนเลือดหยุดและประคบน้ำแข็ง อาการปวดและผิวหนังบวมนูนจะค่อยๆยุบหายไปเองภายในเวลา 1 สัปดาห์
อาการเวียนหัว มึนหัวเวลาฝังเข็ม อาการนี้มักเกิดในผู้ป่วยที่มาฝังเข็มด้วยร่างกายที่อ่อนเพลียเกินไป พักผ่อนน้อย นอนดึก หรือไม่ได้ทานอาหารมาตามมื้อ เป็นต้น สามารถแก้ปัญหาได้โดยการนอนเร็ว พักผ่อนมาให้เพียงพอ ทานอาหารมาให้ครบมื้อ
สนใจวิธีป้องกันอาการเวียนหัวตอนมาฝังเข็ม/การเตรียมตัวก่อนมาฝังเข็ม อ่านต่อรู้สึกร่างกายแขนขาล้า เบาๆ ไม่มีแรง เป็นอาการปกติที่พบได้หลังฝังเข็ม สามารถแก้ไขได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอมักจะกลับเป็นปกติภายใน 1-2 วัน
รอยจ้ำเลือดใต้ผิวหนังมักพบได้เป็นปกติหลังการครอบแก้ว ข้อนี้อาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น อาการข้างเคียง เพราะการครอบแก้วที่ถูกต้องและได้ผลจำเป็นต้องทำให้มีรอยจ้ำเลือดเพื่อดึงดูดให้เลือดเสียถูกขับออกมาทางผิวหนัง รอยจ้ำเลือดมักจะค่อยๆจางและหายไปได้เองภายใน 7-14 วัน
อาการปวดระบมกล้ามเนื้อ (อาการคล้ายๆกับตอนไปนวดมาเยอะหรือหนักเกินไป) เป็นอาการจากการฝังเข็มเยอะเกินไป หรืออาจจะเกิดจากการขยับตัวผิดท่าระหว่างการฝังเข็มก็ได้ สามารถช่วยบรรเทาได้ด้วยการกินยาแก้ปวด และสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการปรับลดปริมาณการรักษาให้น้อยลงในครั้งต่อไป
Q: การรักษาฝังเข็มต้องกินยาจีนควบคู่ไปด้วยรึเปล่า
การักษาด้วยการฝังเข็มส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องกินยาจีนควบคู่ไปด้วยก็ได้ วิธีที่ผมชอบใช้คือรักษาด้วยการฝังเข็มก่อน ถ้าได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจจึงค่อยพิจารณาการรักษาแบบอื่นเสริม
Q: มารักษาฝังเข็มแล้วสามารถนวดหรือทำกายภาพควบคู่ไปด้วยกันได้หรือไม่
สำหรับโรคปวดหรือโรคของกระดูกและกล้ามเนื้อ การฝังเข็มควบคู่ไปกับการนวดหรือการทำกายภาพบำบัดมักได้ผลดีกว่าการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่วงเดียวอยู่แล้ว จึงสามารถทำหลายอย่างควบคู่ไปพร้อมกันได้ แต่ก็ควรจะเว้นระยะห่างเพิ่อไม่ให้เหนื่อยมากจนเกินไป ส่วนใหญ่ผมมักจะแนะนำผู้ป่วยที่ต้องการนวดหรือทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปกับการฝังเข็มให้ทำสลับวันกัน เช่น ถ้าฝังเข็มวันจันทร์ ก็อาจจะทำกายภาพวันอังคาร และนวดวันพุธ แบบนี้ก็สามารถจะทำได้ (ในกรณีนี้หมายถึงการทำกายภาพบำบัดจริงจังที่โรงพยาบาลนะครับ ส่วนที่ต้องทำเองที่บ้านควรต้องทำด้วยตัวเองทุกวันอยู่แล้ว โดยสามารถปรับลดหรือเพิ่มได้ตามกิจกรรมและความอ่อนเพลียในวันนั้นๆ เช่น วันไหนรู้สึกมีแรงก็อาจจะทำมากหน่อย วันไหนพักผ่อนน้อยหรือรู้สึกอ่อนเพลียก็อาจจะทำน้อยหน่อย เป็นต้น)
Q: ฝังเข็มแล้วยังต้องกินยาแผนปัจจุบันที่ทานอยู่อีกรึเปล่า
การฝังเข็มมีข้อห้ามในผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือดเพราะยาจะทำให้เเลือดหยุดยาก ผู้ป่วยที่ทานยาชนิดนี้อยุ่จึงทำการฝังเข็มไม่ได้
ส่วนยาแผนปัจจุบันอื่นๆที่ทานอยู่ก็ควรทานตามเดิมตามที่แพทย์สั่งครับ
Q: หลังรักษาฝังเข็มสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่
หลังการฝังเข็มอาจจะทำให้มีอาการล้า รู้สึกตัวแขนขาเบาๆ ไม่มีแรงได้ จึงมักไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหนักๆ หรือเล่นกีฬาที่มีการปะทะหลังการฝังเข็ม แต่ผู้ป่วยยังสามารถออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน เดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะๆได้ แต่ก็ควรจะระวังไม่ให้เหนื่อยมากจนเกินไป
Q: หลังฝังเข็มสามารถทำงานได้หรือไม่
หลังฝังเข็มควรหลีกเลี่ยงการทำงานตรากตรำจนเหนื่อย หรือการใช้ความคิดมากๆจนทำให้ตึงเครียดมากเกินไป ควรจะผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ นอนเร็ว พักผ่อนให้เต็มที่
สนใจข้อควรปฏิบัติหลังการฝังเข็ม อ่านต่อ
หมายเหตุ: การรักษาฝังเข็มเป็นงานฝีมือที่ละเอียดอ่อนซึ่งขึ้นอยู่กับความชำนาญ ประสบการณ์และการฝึกฝนของหมอแต่ละคน การรักษาของหมอแต่ละคนจึงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นคุณหมอท่านอื่นอาจจะมีความเห็น แนวคิดหรือวิธีปฏิบัติที่แตกต่างจากของผม เนื้อหาความรู้ด้านล่างนี้เป็นความคิดเห็นจาประสบการณ์ส่วนตัวของผมคนเดียวไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานในการชี้วัดความรู้หรือความชำนาญของคุณหมอท่านอื่นๆได้นะครับ