"ฝังเข็ม" ทางเลือกก่อนการผ่าตัดในโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น

 

สำหรับคนไข้ที่มีอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไขสันหลัง การฝังเข็มเป็นการรักษาทางเลือกที่มีประโยชน์มากในหลายกรณี สามารถใช้เป็นตัวเลือกก่อนตัดสินใจรับการผ่าตัด หรือผสมผสานกับการรักษาแบบตะวันตก เช่น การกินยาแก้ปวด การทำกายภาพบำบัดเพื่อเสริมให้ได้รับผลการรักษาที่ดีขึ้นได้

 
CT Scan ของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

CT Scan ของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

 

การฝังเข็มอาจจะมีประโยชน์ในหลายกรณี เช่น

1. ในผู้ป่วยที่ยังไม่พร้อมจะผ่าตัด

กลุ่มนี้ก็มีหลายกรณี เช่น ไม่อยากผ่าตัด กลัวการผ่าตัด หรืออยากจะเก็บการผ่าตัดไว้เป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ยังไม่พร้อมจะรับการผ่าตัดก็มีการรักษาทางเลือกหลายชนิดให้สามารถเลือกใช้ก่อนได้ เช่น ฝังเข็ม การนวด หรือกายภาพบำบัด เป็นต้น ในกรณีที่โรคมีความรุนแรงน้อย-ปานกลาง ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีมักจะมีประโยชน์ สามารถช่วยรักษาอาการจากโรค เช่น ปวดหลัง ปวดก้นร้าวลงขาได้ เป็นต้น ข้อดีอีกย่างคือการรักษาทางเลือกเหล่านี้เป็นการรักษาแบบ non-invasive treatment หรือการรักษาแบบไม่ล่วงล้ำเข้าไปในร่างกายจึงไม่ทำให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อซึ่งอาจจะทำให้เกิดเนื้อเยื่อผังผืดได้ในภายหลังเหมือนการผ่าตัด (การผ่าตัดเป็น invasive operation หรือการรักษาแบบที่ต้องล่วงล้ำเข้าไปในร่างกาย) เพราะฉะนั้นการรักษาทางเลือกเหล่านี้ถึงรักษาไม่หายอย่างมากก็ไม่มีผลเสียอะไร (เพียงอาจจะเสียเวลาและเสียเงินเท่านั้น) ถ้าโรคเป็นมากรักษาไม่ได้ผลผู้ป่วยก็สามารถเปลี่ยนไปรักษาแบบอื่น เช่น ผ่าตัดได้ โดยไม่มีผลกระทบถึงกัน


2. ในผู้ป่วยที่อายุน้อย

ผู้ป่วยอายุน้อยก็เป็นกลุ่มที่ควรพิจารณาการฝังเข็ม หรือการรักษาทางเลือกแบบอื่นๆก่อนการผ่าตัด เนื่องจากอายุน้อยยังมีความจำเป็นต้องใช้ร่างกายอีกนาน การรักษาแบบ invasive treatment หรือการรักษาแบบล่วงล้ำเข้าไปในร่างกายนั้น ทุกครั้งที่เราทำการผ่าตัดต้องมีการกรีดตัดเนื้อเยื่อด้านนอกเพื่อเข้าไปทำการรักษาจุดที่มีการกดทับเส้นประสาท ทำให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อผังผืดขึ้นในบริเวณที่ทำการผ่าตัดทุกๆครั้ง จำนวนครั้งที่สามารถเข้าไปทำการผ่าตัดได้จึงมีจำกัด รวมถึงความยากและความเสี่ยงในการผ่าตัดที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งด้วย

การผ่าตัดอาจจะได้ผลดี แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่กลับมาเป็นอีก ซึ่งถ้ากลับมาเป็นอีกและจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำที่เดิม บริเวณของร่างกายที่เคยได้รับการผ่าตัดไปแล้วจะเกิดการสร้างเนื้อเยื่อผังผืดขึ้นมาทำให้การผ่าตัดในครั้งหลังๆทำได้ยาก และมีความเสี่ยงมากขึ้น


3. ในกรณีที่ระดับการกดทับเส้นประสาทไขสันหลังไม่มาก

ผู้ป่วยกลุ่มที่มีระดับความรุนแรงของโรคน้อยถึงปานกลางนั้น การฝังเข็มเป็นทางเลือกที่มีประโยชน์มากโดยไม่มีข้อเสีย เนื่องจากโรคยังเป็นไม่มากจึงมีโอกาสรักษาให้หายได้ และถึงแม้การฝังเข็มจะให้ผลไม่น่าพอใจก็ยังสามารถเปลี่ยนไปรักษาด้วยการผ่าตัดได้ในภายหลัง

การฝังเข็มอย่างถูกวิธีสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อหลังผ่อนคลาย ลดอาการอักเสบ และลดระดับการกดทับของเส้นประสาทได้ สำหรับผู้ป่วยที่ระดับการกดทับเส้นประสาทไขสันหลังไม่รุนแรงมีโอกาสรักษาให้ดีขึ้นจนไม่มีอาการได้


4. สามารถใช้ควบคู่ไปกับการรักษาแบบตะวันตกเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น

การใช้ฝังเข็มควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่นจะสามารถช่วยเสริมให้ผลการรักษาดีขึ้นมากกว่าใช้การรักษาเพียงวิธีเดียว จากการศึกษาพบว่าการฝังเข็มสามารถช่วยลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวด หรือเสริมผลการรักษาของการทำกายภาพบำบัดให้ได้ผลดีขึ้นได้


อีกเหตุผลนึงที่ผมมักจะแนะนำให้คนไข้โรคนี้ลองรักษาฝังเข็มก่อนตัดสินใจรับการผ่าตัเพราะว่า

ผลการรักษาของฝังเข็มในคนที่เคยผ่าตัดมาแล้วมักจะไม่ดีเท่ากับคนที่ไม่เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน


ถึงฝังเข็มจะเป็นการรักษาที่มีประโยชน์และได้ผลสำหรับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น แต่ก็มีข้อด้อยอยู่คือ

  • การรักษาต้องใช้เวลามากกว่าการผ่าตัดหรือการกินยา

  • ปัญหาด้านความสะดวกเพราะต้องเดินทางมาสถานพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

  • ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ร่างกายไปควบคู่กัน เช่น นั่งในท่าที่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น

  • ผู้ป่วยต้องดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องไปควบคู่กัน เช่น การทำกายภาพ หรืออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง( โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง)เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการรับน้ำหนักร่างกาย ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังไม่ต้องรับภาระมากจนเกินไป

แต่ท้ายที่สุดแล้วการจะเลือกรับการรักษาแบบไหนก็คงไม่มีผิดหรือถูก สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ ความชอบ ความสบายใจ รวมถึงการตัดสินใจของผู้ป่วยแต่ละคนเป็นสำคัญว่าตัวเองเหมาะและอยากรักษาแบบไหนมากที่สุด


RELATED
ARTICLES